แกลลอรี่

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร(Temple of the Dawn, Bangkok) สถานที่ตั้งอยู่ เลขที่ 158 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงอยุธยา เดิมเรียกกันว่าวัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดใหม่ขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน(วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก

เหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อจากวัดมะกอกนอกมาเป็นวัดแจ้งนั้น ชาวบ้านในละแวกนี้เชื่อกันว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าได้แล้ว ในปี พ.ศ.2310 พระองค์ได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระองค์ทรงเสด็จจากเมืองอยุธยามาถึงหน้าวัดแห่งนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น พระองค์ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

และวัดแจ้งแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญคือ พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(ตำแหน่งเดิมของรัชกาลที่ 1 ก่อนขึ้นครองราช) ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ อยู่ถึง 15 ปี ก่อนที่จะทำการอัญเชิญย้ายไปประดิษฐานที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปี พ.ศ.2327 เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระองค์ทรงมีความผูกพันและพระราชศรัทธาในวัดแจ้งแห่งนี้เป็นอย่างมาก จึงได้ทรงเสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี  และทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งพระอาราม แต่การบูรณปฏิสังขรณ์ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม”

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างองค์พระปรางค์หน้าวัดอรุณราชธารามให้สูงสง่าขึ้น เพื่อต้องการให้เป็นพระมหาธาตุประจำพระนคร แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนมาถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างเสริมอง์พระปรางค์ให้สูงสง่าขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา และทรงให้ยืมยอดมงกุฎที่หล่อขึ้นสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่จะพระราชทานไปเป็นพระประธานของวัดนางนอง มาติดบนยอดนภศูลขององค์พระปรางค์

ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามอีกหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ขององค์หลวงพ่อ พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง ทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

องค์พระปรางค์ของวัดอรุณราชวรารามนั้น ถูกสร้างขึ้นตามความเชื่อเรื่องคติจักรวาล โดยมีพระปรางค์องค์ประธานตรงกลาง แทนเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของพระอินทร์ และรายล้อมด้วยปรางค์ทิศแทนทวีปทั้ง ๔ และมหาสมุทรที่กั้นระหว่างแต่ละทวีป หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการแทนธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ช่วยหนุนโลกธาตุนี้ให้ดำเนินไปตามวิถี

อีกทั้งชัยภูมิที่ตั้งขององค์พระปรางค์ของวัดอรุณราชวรารามก็ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย คือด้านหน้าติดแม่น้ำด้านหลังเป็นภูเขา ซึ่งตามความเชื่อโบราณว่า หากผู้ใดที่ได้เข้ามาสักการะบูชาองค์พระปรางค์วัดอรุณ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดอรุณราชวรารามแห่งนี้ ก็จะได้รับพลังงานแห่งธาตุทั้ง ๔ มาเกื้อหนุนดวงชะตา เพิ่มพลังงานให้แก่ดวงชะตา และยังเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตและครอบครัวอีกด้วย